วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

สับเปลี่ยนพนักงานราชการ

พนักงานราชการท่านใดที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนจังหวัดพัทลุงที่ประสงค์สับเปลี่ยนมาที่ปัตตานีเขต2 (โรงเรียนบ้านตาลีอายร์) สามารถติดต่อมาที่ 087-0002331 ได้เพราะภรรยาของผมต้องย้ายสับเปลี่ยนกลับพัทลุง ขอบคุณ

วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การอพยพของท่านนบี

บทเรียนจากการฮิจญ์เราะฮฺของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม
อ.มัสลัน มาหะมะ
1. ความนำ
ฮิจญ์เราะฮฺตามความหมายด้านภาษาแล้ว หมายถึง การย้ายถิ่นฐาน การอพยพ ฮิจญ์เราะฮฺอาจสื่อความหมายด้านนามธรรม ซึ่งหมายถึง การไม่ให้ความสำคัญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การละเลยไม่สนใจใยดี หรือการละทิ้งพฤติกรรมที่ไม่ดีสู่พฤติกรรมที่ดี
ส่วนความหมายตามหลักวิชาการแล้วคือ การอพยพของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และเหล่าเศาะหาบะฮฺ (บรรดาสาวก) จากนครมักกะฮฺ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดสู่นครมะดีนะฮฺ นครรัฐแห่งแรกในอิสลาม เนื่องจากถูกกดขี่ทรมานและถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบกิจกรรมและปฏิบัติตามบัญญัติทางศาสนา ไม่สามารถปฏิบัติธรรมและแสดงตนตามความเชื่อศรัทธาของตนเอง
ในห้วงประวัติศาสตร์ของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม มีเหตุการณ์สำคัญมากมายที่ควรแก่การจดจำ อาทิ ปีกำเนิดและเสียชีวิตของท่าน ปีที่ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็น ศาสนทูต ปีแห่งการประทานอัล-กุรอาน ปีแห่งการอิสรออ์และมิอฺรอจ(การเดินทางช่วงกลางคืนของท่านนบีจากเมืองมักกะฮฺสู่มัสยิดอัล-อักศอ ณ เมืองปาเลสไตน์ และจากมัสยิดอัล-อักศอสู่ฟ้าชั้นเจ็ดตลอดจนการรับคำสั่งจากอัลลอฮฺโดยตรงในหลักศาสนบัญญัติที่ว่าด้วยการละหมาด โดยที่ภารกิจดังกล่าวได้เสร็จสิ้นภายในคืนเดียวเท่านั้น) ปีแห่งสงครามบัดรฺ หรือแม้แต่ปีแห่งการเปิดเมืองมักกะฮฺ ซึ่งเป็นวันแห่งการประกาศชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในอิสลาม
เหตุการณ์ดังกล่าว ล้วนเป็นเหตุการณ์สำคัญที่มีบทบาทและอิทธิพลอันใหญ่หลวงต่อการเผยแผ่อิสลามและวิถีชีวิตมุสลิมในทุกยุคทุกสมัย
แต่มุสลิมสมัยการปกครองของท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร บินค็อฏฏอบ ได้พร้อมใจกันเลือกเหตุการณ์ฮิจญ์เราะฮฺเป็นจุดเริ่มต้นของการนับปฏิทินอิสลาม เพื่อให้มุสลิมได้รำลึกถึงเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่นี้ในทุกอณูการดำเนินชีวิตของมุสลิม
ประวัติศาสตร์มีไว้เพื่อเป็นบทเรียน ผู้ใดที่ศึกษาประวัติศาสตร์และเก็บรักษาเพียงแต่ในพิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำ โดยที่ไม่สามารถประยุกต์ใช้เป็นบทเรียนแล้ว แท้จริงการศึกษาของเขาก็เปล่าประโยชน์ และไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นผู้ศึกษาประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง
2. ย้อนรอยฮิจญ์เราะฮฺท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม
2.1 สาเหตุของฮิจญ์เราะฮฺท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม
การที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ตัดสินใจออกคำสั่งให้บรรดาเศาะฮาบะฮฺอพยพสู่นครมะดีนะฮฺนั้น มีสาเหตุหลักสามประการ คือ
หนึ่ง การที่มุสลิมไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา พวกเขาถูกกดขี่ข่มเหงจากชาวมักกะฮฺอย่างไร้มนุษยธรรม ถือเป็นยุคที่ชาวมุสลิมได้รับความเดือดร้อนและประสบความยากลำบากมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังการเสียชีวิตของอบู ฏอลิบ(อาของท่านนบีฯ)และนางเคาะดีญะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา (ภรรยาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม) ซึ่งสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งสองท่านปรียบเสมือนเสาหลักที่คอยปกป้องและคุ้มครองท่านนบีฯอยู่ตลอดเวลา แต่มุสลิมก็เผชิญหน้าอุปสรรคต่างๆนานาด้วยความอดทน เสียสละ และยังให้บทเรียนอันล้ำค่าว่าภัยคุกคามภายนอกที่เป็นการทรมานทางร่างกายและจิตใจที่สร้างความสูญเสียทางชีวิตและทรัพย์สินไม่สามารถสั่นคลอนความศรัทธาอันมั่นคงและความตั้งใจอันแน่วแน่แม้แต่น้อย
เกี่ยวกับบทบาทของอบู ฏอลิบต่อการปกป้องการเผยแผ่อิสลามแล้ว ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้ความว่า “ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺ ชาวกุเรชไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้แก่ฉันได้เลย เว้นแต่หลังจากการเสียชีวิตของอบู ฎอลิบ”
สำหรับนางเคาะดีญะฮฺแล้ว ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เคยกล่าวพูดถึงนางว่า “นางได้ศรัทธาในคำสอนของฉันในขณะที่คนอื่นพากันปฏิเสธ นางได้เชื่อคำบอกกล่าวของฉันในขณะที่คนอื่นหันหลังอย่างไม่ใยดี นางได้ช่วยเหลือฉันด้วยทรัพย์สมบัติของนางในขณะที่คนอื่นไม่ให้การสนับสนุนเลย และนางได้กำเนิดลูกให้แก่ฉันในขณะที่ภรรยาคนอื่นไม่ให้กำเนิดลูกแก่ฉันเลย”
นักประวัติศาสตร์ได้เรียกปีที่ทั้งสองท่านเสียชีวิต(ปีที่สิบหลังจากการประกาศเป็นศาสนทูต)เป็นปีแห่งความเศร้าโศก
สอง ผลพวงแห่งการทำสัตยาบัน อัล-อะเกาะบะฮฺ ครั้งแรกและครั้งที่สองระหว่างท่านนบีฯและชาวยัษริบ(ชื่อเดิมของนครมะดีนะฮฺ)อันประกอบด้วยผู้แทนเผ่าเอาวซ์และค็อซร็อจญ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาในการให้คำสัตยาบันอัล-อะเกาะบะฮฺครั้งที่สอง ที่ทั้งสองเผ่าได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะคุ้มครองและปกป้องนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เสมือนที่พวกเขาคุ้มครองและปกป้องภรรยาและลูกหลานของตนเอง
หลังจากการให้คำสัตยาบันดังกล่าว ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เริ่มเห็นประกายอนาคตอันสดใสของสาส์นอิสลามที่นครมะดีนะฮฺ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีของประชาคมมะดีนะฮฺที่ตอบรับรุ่งอรุณแห่งอิสลามด้วยความบริสุทธิ์ใจและศรัทธามั่นจนกระทั่งไม่มีบ้านหลังใด ณ นครมะดีนะฮฺ เว้นแต่ได้ตอบรับทางนำแห่งอิสลาม เพื่อเป็นการตอกย้ำว่ามะดีนะฮฺ คือ แผ่นดินที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเพาะพันธุ์สัจธรรมอิสลาม
สาม แผนการณ์อันชั่วร้ายของชาวกุเรชที่ได้ออกมติกำจัดท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม โดยวิธี “ซุ่มแล้วฆ่า” ด้วยการคัดเลือกเยาวชนซึ่งเป็นผู้แทนเผ่าต่างๆ โดยที่แต่ละคนถือดาบคนละด้าม และร่วมปฏิบัติการฆาตกรรมโดยพร้อมเพรียงกัน ทั้งนี้เพื่อบีบบังคับให้เผ่า บนี อับดุมะนาฟ (เผ่าของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม) ยินยอมรับค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากไม่มีศักยภาพพอที่จะล้างแค้นและทำสงครามกับเผ่าต่างๆ ในนครมักกะฮฺ
อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้เปิดโปงกลอุบายดังกล่าวแก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และอนุญาตให้ท่านฮิจญ์เราะฮฺสู่นครมะดีนะฮฺ โดยที่อัลลอฮฺทรงกล่าวไว้ว่า
«وَإِذْ يَمْكُرُ بِكَ الَّذِينَ كَفَرُوا لِيُثْبِتُوكَ أَوْ يَقْتُلُوكَ أَوْ يُخْرِجُوكَ وَيَمْكُرُونَ وَيَمْكُرُ اللَّهُ وَاللَّهُ خَيْرُ الْمَاكِرِينَ» (سورة الأنفال: 30)
ความว่า : “และเจ้าจงรำลึกขณะที่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาวางอุบายต่อเจ้า เพื่อกักขังเจ้า หรือฆ่าเจ้า หรือขับไล่เจ้าออกไป(จากนครมักกะฮฺ)และพวกเขาวางอุบายกัน และอัลลอฮฺก็ทรงวางอุบาย และอัลลอฮฺนั้นทรงเป็นผู้เยี่ยมกว่าในหมู่ผู้วางอุบาย” (อัล-อันฟาล : 30 )
2.2 การเริ่มต้นฮิจญ์เราะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม
หลังจากบรรดามุสลิมีนได้ทยอยอพยพสู่นครมะดีนะฮฺ และไม่มีผู้ใดหลงเหลืออยู่ในนครมักกะฮฺเว้นแต่ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวจับขังและกลุ่มผู้ไม่มั่นใจในความปลอดภัย ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงได้เตรียมการอพยพพร้อมกับรอรับคำสั่งจากอัลลอฮฺในการกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมกับฮิจญ์เราะฮฺ ท่านได้วานให้ อบู บักรฺและอะลี บิน อบู ฏอลิบ ชะลอการฮิจญ์เราะฮฺ ทุกครั้งที่อบู บักรฺขออนุญาตเพื่อฮิจญ์เราะฮฺ ท่านมักตอบว่า ”อย่าเพิ่งรีบร้อน บางทีอัลลอฮฺได้กำหนดสหายเดินทางสำหรับท่านก็เป็นได้” อบู บักรฺ จึงได้หวังลึกๆ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม อาจเลือกท่านเป็นสหายการเดินทางในครั้งนี้ และได้แอบซื้ออูฐ 2 ตัว เพื่อเตรียมตัวใช้เป็นพาหนะการเดินทาง
ส่วนอะลี บิน อบู ฏอลิบ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ชะลอการฮิจญ์เราะฮฺของท่านเพื่อมอบภารกิจอันยิ่งใหญ่ในวินาทีที่คับขันและเต็มไปด้วยภยันตราย
วิกฤตการณ์มักสร้างวีรบุรุษ และวีรบุรุษมักฟันฝ่าสภาพวิกฤตในฐานะผู้ประสบผลสำเร็จอยู่เสมอ
อบู บักรฺและอะลี เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา จึงเป็นวีรบุรุษต่างวัยและต่างวุฒิภาวะที่ได้รับมอบหมายจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ให้ปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่เพื่อการเล่าขานในหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม
อุมมุลมุมินีน อาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮา ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ฮิจญ์เราะฮฺว่า “โดยปกติแล้วท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม มักไปเยี่ยมบ้านของอบูบักรในช่วงเช้าตรู่หรือช่วงพลบค่ำจนกระทั่งเมื่อวันที่อัลลอฮฺทรงอนุญาตให้ท่านฮิจญ์เราะฮฺ ท่านมาพบพวกเราท่ามกลางเวลาอันร้อนระอุ(ช่วงเวลาหลังเที่ยงวันถึงตอนเย็น) ซึ่งไม่มีผู้ใดออกจากบ้านในช่วงเวลาดังกล่าวเลย เมื่อเห็นนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เข้ามาในบ้านของเราแล้ว อบู บักรฺ จึงกล่าวว่า ‘ท่านรสูลุลลอฮฺจะไม่มาพบพวกเราในเวลาเช่นนี้เว้นแต่มีเรื่องสำคัญแน่นอน’ นางอาอิชะฮฺเล่าว่า หลังจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เข้าบ้านแล้ว อบู บักรฺจึงรีบลุกจากที่นั่งของท่านเพื่อให้ท่านนบีนั่งแทน และไม่มีผู้คนในบ้านของอบู บักรฺเว้นแต่ฉันและพี่สาวฉันที่ชื่ออัสมาอ์เท่านั้น ท่านนบีสั่งให้อบู บักรฺเชิญผู้คนในบ้านออกจากบ้านหมด อบู บักรฺจึงกล่าวว่า ‘โอ้รสูลุลลอฮฺ แท้จริงทั้งสองคนคือบุตรสาวของฉันเอง ท่านมีเรื่องสำคัญประการใดหรือ?” ท่านตอบว่า ‘อัลลอฮฺทรงอนุญาตให้ฉันออกจากมักกะฮฺและฮิจญ์เราะฮฺสู่นครมะดีนะฮฺแล้ว’ อบู บักรฺ จึงรีบถามว่า ‘แล้วใครเป็นสหายการเดินทาง’ ท่านตอบว่า ‘ท่านคือสหายการเดินทาง’ อาอิชะฮฺเล่าต่อว่า ขอสาบานด้วยนามของอัลลอฮฺ ฉันไม่เคยเห็นบุคคลที่ร้องไห้เนื่องจากความดีใจเสมือนกับที่ฉันเห็นอบู บักรฺร้องไห้ในวันนั้น”
อบู บักรฺได้ซื้ออูฐสองตัวเพื่อเป็นพาหนะการเดินทาง และได้ว่าจ้างผู้นำทางที่มีความเชี่ยวชาญเส้นทางในทะเลทรายชื่อ อับดุลลอฮฺ บิน อุร็อยก็อฏ ซึ่งยังไม่ได้เป็นมุสลิม อับดุลลอฮฺได้รับมอบอูฐทั้งสองตัวเพื่อให้การดูแลก่อนที่จะไปรับทั้งสองท่านในช่วงเวลาและสถานที่ที่ได้ตกลงกันไว้
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ตกลงกับอบู บักรฺเกี่ยวกับแผนการเดินทาง ทั้งสองได้ตกลงใช้ถ้ำษูรฺเป็นที่หลบซ่อนชั่วคราวโดยที่ถ้ำษูรฺตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมักกะฮฺในขณะที่มะดีนะฮฺซึ่งเป็นเป้าหมายของการเดินทางตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ทั้งนี้เพื่อเป็นกลอุบายที่จะอำพรางการไล่ล่าติดตามของชาวกุเรช ทั้งสองได้คัดเลือกบุคคลที่คอยสอดแนมข่าวคราวความเคลื่อนไหวของชาวกุเรช ตลอดจนมอบหมายภารกิจต่างๆที่พึงปฏิบัติช่วงที่ทั้งสองหลบซ่อนในถ้ำ
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กลับบ้านอีกครั้งและมอบหมายให้อะลี บิน อบู ฏอลิบส่งคืนของมีค่าต่างๆ ที่ชาวมักกะฮฺฝากไว้กับท่าน ทั้งนี้ชาวมักกะฮฺมักนำของมีค่าต่างๆ มาฝากไว้ที่บ้านของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เนื่องจากไว้วางใจในความซื่อสัตย์ของท่าน
บรรดาวัยรุ่นกุเรชที่ได้รับมอบหมายให้ฆาตรกรรมท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ล้อมบ้านท่านช่วงเวลากลางคืน ท่านจึงมอบหมายให้อะลีนอนบนที่นอนของท่านพร้อมใช้ผ้าห่มคลุมตัวอะลี ทำให้บรรดาวัยรุ่นกุเรชมั่นใจว่าท่านนบีกำลังนอนอยู่ พวกเขาเผลอหลับไปจนกระทั่งเช้าวันรุ่งขึ้น
ด้วยความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม สามารถออกจากบ้านด้วยความปลอดภัย และได้พบกับอบู บักรฺ ณ สถานที่ที่ได้ตกลงกันไว้ ทั้งสองเดินทางหลังเที่ยงคืนสู่เป้าหมายชั่วคราวคือ ถ้ำษูรฺ
2.3 ในถ้ำษูรฺ
ทั้งสองท่านหลบซ่อนในถ้ำษูรฺเป็นเวลาสามวัน โดยในช่วงเวลาดังกล่าวอับดุลลอฮฺและอัสมาอฺ(ลูกชายและลูกสาวของอบู บักรฺ)ทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนส่งเสบียงอาหารและคอยสอดแนมข่าวคราวความเคลื่อนไหวของชาวกุเรช ในขณะที่ อามิรฺ บิน ฟุฮัยเราะฮฺ ซึ่งเป็นบ่าวรับใช้ของอบู บักรฺ รับหน้าที่เลี้ยงแกะและคอยส่งนมแกะแก่คนทั้งสอง ในขณะเดียวกัน อามิรฺ คอยกลบรอยเท้าของอับดุลลอฮฺและอัสมาอ์ด้วยรอยเท้าของฝูงแกะยามที่ทั้งสองพาเสบียงให้แก่ท่านนบีและอบู บักรฺ
ข้างฝ่ายชาวกุเรช เมื่อแผนการณ์ไม่ประสบผลสำเร็จ ก็สร้างความโกรธแค้นแก่พวกเขายิ่งนัก เมืองมักกะฮฺจึงเกิดความโกลาหลวุ่นวาย พวกเขาจึงได้กรูเข้าไปจับท่านอะลีและลากตัวท่านไปยังกะบะฮฺเพื่อบังคับให้เปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้น แต่อะลีก็ไม่ปริปากแม้แต่คำเดียว พวกเขาจึงมุ่งหน้าไปยังบ้านอบู บักรฺ และบังคับขู่เข็ญอัสมาอ์ บุตรสาวของอบู บักรฺ ให้บอกสถานที่หลบซ่อนของทั้งสองท่าน แต่อัสมาอ์ก็ไม่ยอมปริปากเช่นเดียวกัน นางจึงถูกตบหน้าโดย อบู ญะฮัล (แกนนำชาวกุเรช) จนกระทั่งตุ้มหูของนางหลุดกระเด็น
ชาวกุเรชจึงรีบประชุมด่วนเพื่อหามาตรการจับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และอบู บักรฺ พวกเขารีบกระจายกำลังปิดล้อมเมืองมักกะฮฺและประกาศตั้งรางวัลอูฐจำนวน 100 ตัวสำหรับผู้ที่สามารถจับทั้งสองท่านไม่ว่าจับเป็นหรือจับตาย
การไล่ล่าจึงเริ่มขึ้นแทบพลิกแผ่นดินมักกะฮฺ แต่ก็ไร้เงาของทั้งสองท่าน ทีมไล่ล่าได้เข้าประชิดถ้ำษูรฺ จนกระทั่งอบู บักรฺมองเห็นเท้าของพวกเขา แต่ด้วยความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ พวกเขาก็ต้องกลับด้วยมือเปล่า ทั้งๆที่เป้าหมายสำคัญอยู่ใกล้แค่เอื้อม
2.4 บนเส้นทางสู่มะดีนะฮฺ
หลังจากเวลาผ่านไปสามวัน ชาวกุเรชเริ่มหมดหวังที่จะจับตัวท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และอบู บักรฺ การไล่ล่าก็เริ่มผ่อนคลาย อับดุลลอฮฺ บิน อุร็อยก็อฏ ผู้รับหน้าที่เป็นผู้นำทางจึงไปหาทั้งสองท่าน ณ จุดนัดพบพร้อมอูฐทั้งสองตัวที่เขารับเลี้ยงดูก่อนหน้านี้ ก่อนเดินทาง อัสมาอ์ได้เข้ามาหาพร้อมเสบียงอาหาร แต่นางลืมเชือกสำหรับผูกเสบียงอาหาร นางจึงฉีกผ้าคาดเอวเพื่อเป็นเชือกผูกเสบียงอาหารติดกับอูฐ นางจึงได้รับสมญานามตั้งแต่บัดนั้นว่า ผู้ครอบครองผ้าคาดเอวสองเส้น
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม และอบู บักรฺเริ่มออกเดินทางโดยมีอามิรฺ บิน ฟุฮัยเราะฮฺเป็นผู้อำนวยความสะดวกและคอยให้บริการ ในขณะที่อับดุลลอฮฺ บิน อุร็อยก็อฏมีหน้าที่เป็นผู้นำทาง
พวกเขาใช้เส้นทางที่ผู้คนไม่ค่อยเดินผ่าน ตลอดระยะเวลาการเดินทางก็ต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางอยู่ตลอดเวลา เริ่มต้นด้วยการมุ่งสู่ทางทิศใต้ บางครั้งก็ใช้เส้นทางทิศตะวันตก และเมื่อถึงเส้นทางที่ผู้คนไม่ค่อยเดินผ่าน ก็เริ่มมุ่งหน้าสู่ทิศเหนือตามแนวทะเลแดงสู่เป้าหมายปลายทางคือ มะดีนะฮฺ
หลังจากใช้ระยะเวลาแปดวันนับตั้งแต่ออกจากถ้ำษูรฺ ท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ถึงเมืองกุบาอ์(ห่างจากใจกลางเมืองมะดีนะฮฺประมาณสามไมล์)และพำนักอยู่ที่กุบาอ์เป็นเวลาสี่วัน ช่วงเวลาดังกล่าวท่านได้สร้างมัสยิดกุบาอ์ที่ถือเป็นมัสยิดแห่งแรกในอิสลามและเป็นมัสยิดที่มีศิลารากฐานแห่งการตักวา (ความยำเกรงต่อ อัลลอฮฺ)
ณ กุบาอ์ ท่านนบีได้พบกับอะลี บิน อบู ฏอลิบที่ได้อพยพตามหลังท่าน หลังจากที่ได้นำคืนสิ่งของมีค่าแก่เจ้าของตามคำสั่งท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม
หลังจากนั้นท่านก็เริ่มเดินทางสู่มะดีนะฮฺ ระหว่างทาง ท่านได้มีโอกาสละหมาดวันศุกร์ครั้งแรก ณ หมู่บ้าน บะนี สาลิม บิน เอาว์ฟฺ หลังจากเสร็จสิ้นละหมาดวันศุกร์ ท่านเดินทางเข้าสู่มะดีนะฮฺท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่น
ระยะเวลาการเดินทางของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่เริ่มต้นออกจากบ้านที่นครมักกะฮฺสู่นครมะดีนะฮฺใช้เวลาทั้งสิ้น 15 วัน นับเป็นการเดินทางที่นอกจากเป็นจุดพลิกผันของประวัติศาสตร์อิสลามแล้ว ยังเป็นการเดินทางที่เปี่ยมด้วยคุณค่า บะเราะกะฮฺ และการคุ้มครองแห่งอัลลอฮฺ ของมนุษย์ผู้หนึ่งที่ได้รับเกียรติจากอัลลอฮฺให้เป็นนบีคนสุดท้ายเพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับมนุษยชาติในทุกยุคทุกสมัย
3. ข้อคิดและบทเรียน
จากการศึกษาฮิจญ์เราะฮฺของท่านนบีศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เราสามารถนำเป็นบทเรียนโดยสรุปดังนี้
3.1 การฆาตรกรรม มักเป็นมาตรการสุดท้ายของผู้อธรรมที่ปฏิบัติต่อผู้ประกาศสัจธรรม หลังจากมาตรการอื่นๆ ไม่เป็นผลและไม่สามารถยับยั้งการเรียกร้องสู่สัจธรรม เป็นต้นว่า การดูถูกเหยียดหยาม การใส่ร้ายป้ายสี การบังคับขู่เข็ญ การหลอกล่อด้วยผลประโยชน์และสัญญาอันจอมปลอมนานาชนิด ไม่สามารถเป็นหลุมพรางได้ การอุ้มแล้วฆ่า หรือ ซุ่มแล้วฆ่า ล้วนเป็นวิธีการที่ฝ่ายอธรรมยึดเป็นคำตอบสุดท้ายอยู่เสมอ ซึ่งประวัตินบียุคก่อนๆก็ไม่พ้นสัจธรรมข้อนี้ แต่อัลลอฮฺทรงกำหนดทุกอย่างตามความประสงค์ของพระองค์
3.2 การที่ชาวมักกะฮฺได้มอบความไว้วางใจแก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ด้วยการฝากของมีค่าให้ท่านดูแลรักษานั้น เป็นสิ่งยืนยันว่า แท้จริงแล้วสังคมโดยรวม ต่างก็เลื่อมใสศรัทธาท่านเป็นการส่วนตัว สังคมมักกะฮฺได้ตั้งฉายาท่านว่า “อัล-อะมีน” (หมายถึงบุรุษผู้ซื่อสัตย์) เพราะคุณสมบติสำคัญสำหรับผู้ประกาศสัจธรรม คือ การเป็นคนที่มีใจซื่อมือสะอาดไม่มีประวัติที่ด่างพร้อย เปี่ยมด้วยคุณธรรมจริยธรรมอันดีงาม เป็นที่รักและไว้วางใจของผู้คน คุณสมบัติเช่นนี้เป็นที่ระแวงของผู้อธรรมยิ่งนัก เพราะความหวาดกลัวของผู้อธรรม คือ การเปิดโปงความจริงและการแพร่ขยายสัจธรรม
คุณสมบัติและพฤติกรรมดังกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม น่าจะเป็นบทเรียนอันล้ำค่าสำหรับมุสลิมในการใช้ชีวิตร่วมกันท่ามกลางสังคมอันหลากหลายที่สามารถแสดงถึงความดีงามและความบริสุทธิ์ที่แท้จริงของอิสลาม
เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ในบางครั้ง ความสวยงามของศาสนาอิสลามต้องมัวหมองและด่างพร้อยเพราะพฤติกรรมส่วนหนึ่งของมุสลิมด้วยกันเอง
3.3 เป็นที่ทราบกันดีว่า ช่วงการฮิจญ์เราะฮฺนับเป็นสภาวะคับขันที่สุดในชีวิตท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ท่านจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺโดยไม่จำเป็นต้องระเหเร่ร่อนตามเทือกเขาและทะเลทรายนานกว่าสองอาทิตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านมีพรที่สามารถขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺได้ตามที่ปรารถนา แต่ท่านเลือกใช้วิธีปุถุชนธรรมดาที่ต้องเสี่ยงชีวิต และประสบกับความยากลำบาก ท่านยังวางมาตรการและแผนการต่างๆ อย่างรอบคอบและรัดกุมที่สุด เช่น การให้ อะลี นอน ณ ที่นอนของท่าน การเดินทางในเวลาหลังเที่ยงคืน การวางแผนเข้าพำนักที่ถ้ำษูรฺเป็นการชั่วคราว การมอบให้บุคคลเฉพาะปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ช่วงที่ท่านหลบตัวในถ้ำ การเดินทางสู่นครมะดีนะฮฺตามเส้นทางที่วกไปวกมา เพื่อเป็นบทเรียนให้ทุกคนรู้ว่า เมื่อมนุษย์รู้จักใช้เหตุปัจจัยที่ดี ครบถ้วนและเต็มความสามารถแล้ว เขาย่อมประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนด้วยความประสงค์ของอัลลอฮฺ
สังคมมุสลิมจำเป็นต้องแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างความปรีชาสามารถของอัลลอฮฺกับความไม่รับผิดชอบในการแสวงหาเงื่อนไขแห่งความสำเร็จอย่างถึงที่สุด จนกระทั่งในบางครั้งสังคมมุสลิมมักตกในหลุมพรางแห่งความเชื่ออันไร้สาระและงมงาย
หากย้อนอดีตได้ หลายๆ คน

วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การหยอกล้อแบบอิสลาม

มารยาทในการหยอกล้อ
ปากนอกจากจะมีหน้าที่เคี้ยวอาหารก่อนที่จะถูกลำเลียงลงสู่กระเพาะแล้ว มันยังมีหน้าที่อีกอย่างที่สำคัญไม่หย่อนกว่ากัน นั่นคือเอาไว้พูดสื่อสารระหว่างกัน และเพื่อเป็นการเพิ่มอรรถรสในการพูด ก็ต้องมีการหยอกล้อเย้าแหย่กันบ้าง
บางคนอาจประสงค์ดีในการหยอกล้อ อยากให้คนรอบข้างมีความสุข แต่พอเย้าเข้าหน่อยกลับกลายเป็นการเอาความทุกข์ไปทับถมเขาเสียนี่
บางทีแทนที่คนรอบข้างจะมารุมล้อม อาจกลายเป็นมาล้อมรุมแทน
ฉะนั้นสมควรอย่างยิ่งยวดที่เราจักต้องศึกษา และทำความเข้าใจถึงกรอบและมารยาทที่อิสลามได้วางไว้ในการหยอกล้อ เพราะ...
“คำพูดหนึ่งคำอาจเป็นเหตุให้ผู้พูดเข้าสู่สวนสวรรค์ แต่ในทางกลับกันมันอาจเป็นชนวนให้ผู้พูดตกขุมนรกก็อาจเป็นไปได้”

มารยาทในการหยอกล้อ
1. ไม่หยอกล้อในเชิงดูถูกดูแคลนหรือเย้ยหยันในคำสอนของศาสนา
ไม่ว่าคำสอนนั้นจะเป็นวาญิบหรือสุนัตก็ตามที เช่นการละหมาด การไว้เครา การสวมหิญาบ เป็นต้น เพราะการกระทำเช่นนั้นก็เสมือนกับการดูถูกดูแคลนผู้ที่ประทานคำสอนเหล่านั้นมา นั่นคือเอกองค์อัลลอฮฺ  ซึ่งเป็นผลให้ผู้ที่กระทำเช่นนั้นหลุดพ้นจากสภาพความเป็นมุสลิม (มุรตัด)

อัลลอฮฺ  ได้ตรัสไว้ความว่า:
"และถ้าหากเจ้าได้ถามพวกเขา แน่นอนพวกเขาจะกล่าวว่า แท้จริงพวกเราเป็นแต่พูดสนุกและพูดเล่นเท่านั้น จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่าต่ออัลลอฮฺและโองการของพระองค์และเราะสูลของพระองค์กระนั้นหรือที่พวกท่านเย้ยหยันกัน พวกท่านอย่าแก้ตัวเลย แท้จริงพวกท่านได้ปฏิเสธศรัทธาแล้ว หลังจากมีการศรัทธาของพวกท่าน..." [อัตเตาบะฮฺ:65-66]

การดูถูกดูแคลนหรือเย้ยหยันคำสอนของศาสนานั้น บางอุละมาอฺได้แบ่งออกเป็นสองประเภท นั่นคือ
- การเย้ยหยันโดยทางตรง เช่นการพูดดูถูกดแคลนการละหมาด เป็นต้น
- การเย้ยหยันโดยทางอ้อม ซึ่งจะเป็นในรูปแบบของการแสดงท่าทางที่สื่อถึงการเย้ยหยัน เช่นการแลบลิ้นต่อคัมภีร์อัลกุรอาน เป็นต้น
นอกจากการเย้ยหยันคำสอนแล้ว การเย้ยหยันผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอน เนื่องจากเขาได้ปฏิบัติตามคำสอนนั้น ๆ ก็ถือว่าเหมือนกับการเย้ยหยันคำสอนนั้น ๆ เช่น การพูดดูถูกดูแคลนคนที่ไว้เคราเนื่องจากเขาได้ไว้เครา เป็นต้น

2. ไม่หยอกล้อนอกจากเรื่องสัจจริง
การพูดปดมดเท็จถือเป็นบาปใหญ่ในศาสนาอิสลาม อีกทั้งมันยังเป็นหนึ่งในคุณลักษณะของพวกมุนาฟิก ดังที่ท่านนบี  ได้กล่าวว่า:


«آية المنافق ثلاث: إذا حدث كذب، وإذا وعد أخلف، وإذا اؤتمن خان»


ความว่า: สัญลักษณ์ของพวกมุนาฟิกมีอยู่สามประการ เมื่อเขาพูดเขาก็โกหก เมื่อเขาทำสัญญาเขาก็เบี้ยว และเมื่อเขาถูกมอบความไว้วางใจเขาก็ไม่ซื่อสัตย์ [อัลบุคอรีย์: 33 และมุสลิม: 208]

ถึงแม้ว่าการหยอกล้อจะเป็นที่อนุญาต แต่ถ้าสื่อของการหยอกล้อเป็นสิ่งที่หะรอม โดยการแต่งเนื้อปั้นเรื่องโดยไม่มีมูลความจริง มันก็ทำให้การหยอกล้อนั้นเป็นสิ่งที่หะรอม
ท่านนบี  ได้กล่าวว่า:


«ويل للذي يحدث فيكذب ليضحك به القوم ويل له»


ความว่า: ความหายนะจงประสบแก่ผู้ที่พูดแล้วเขาก็โกหก เพื่อให้หมู่ชนหัวเราะ ความหายนะจงประสบแก่เขา [อบูดาวูด: 4982]

3. ไม่หยอกล้อโดยทำให้เกิดความหวาดกลัวหรือตกใจ
ท่านนบี  กล่าว่าว่า:


«لا يحل لمسلم أن يروع مسلما »


ความว่า: ไม่อนุญาตให้มุสลิมสร้างความหวาดกลัวแก่พี่น้องมุสิลมด้วยกัน [อบูดาวูด: 4996]

ตัวอย่างเช่น การเดินย่องมาข้างหลังเงียบ ๆ แล้วจี้เส้น หรือการเอาทรัพย์สินไปซ่อน เป็นต้น
ท่านอัลอิซ อิบนุ อับดุสสลามได้กล่าวไว้ในหนังสือ “เกาะวาอิดุลอะหฺกาม” ว่า:
“ส่วนการปฏิบัติของคนทั่วไปโดยการเอาทรัพย์สิน (ไปซ่อน) เพื่อหยอกล้อนั้น การปฏิบัติเช่นนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องห้าม เพราะมันเป็นการทำให้เจ้าทรัพย์สินมีความวิตกกลัว”
การหยอกล้อโดยทำให้คนอื่นหวาดกลัวหรือตกใจถึงแม้ว่าจะทำให้ผู้ที่หยอกล้อมีความสุขและสนุก แต่ทว่ามันไม่ได้ทำให้ผู้ที่ถูกหยอกล้อนั้นมีความสุขแต่ประการใด และในบางครั้งมันยังอาจส่งผลกระทบต่อภาวะจิตใจหรือร่างกายของผู้ที่ถูกหยอกล้ออีกด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่งที่เราจะสรรหาความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น

4. ไม่หยอกล้อในเชิงดูถูกคนอื่น
อัลลอฮฺได้ตรัสว่า:


﴿ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لَا يَسْخَرْ قَومٌ مِّن قَوْمٍ عَسَى أَن يَكُونُوا خَيْراً مِّنْهُمْ وَلَا نِسَاء مِّن نِّسَاء عَسَى أَن يَكُنَّ خَيْراً مِّنْهُنَّ وَلَا تَلْمِزُوا أَنفُسَكُمْ وَلَا تَنَابَزُوا بِالْأَلْقَابِ بِئْسَ الاِسْمُ الْفُسُوقُ بَعْدَ الْإِيمَانِ ﴾


ความว่า: โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย ชนกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยชนอีกกลุ่มหนึ่ง บางทีชนกลุ่มที่ถูกเยอะเย้ยนั้นจะดีกว่าชนกลุ่มที่เยาะเย้ย และสตรีกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยสตรีอีกกลุ่มหนึ่ง บางทีสตรีที่ถูกเยาะเย้ยจะดีกว่ากลุ่มที่เยาะเย้ย และพวกเจ้าอย่าได้ตำหนิตัวของพวกเจ้าเอง และอย่าได้เรียกกันด้วยฉายาที่ไม่ชอบ ช่างเลวทรามจริง ๆ ที่บรรดาผู้ศรัทธาเรียกว่าเป็นผู้ฝ่าฝืนภายหลังจากที่ได้มีการศรัทธากันแล้ว และผู้ใดไม่สำนึกผิด ชนเหล่านั้นคือบรรดาผู้อธรรม [อัลหุญุร็อต : 11]

ท่านอิบนุกะษีรฺกล่าวว่า: ความหมายคือการดูถูก เหยียดหยาม ดูหมิ่น ปวงประการเหล่านี้คือสิ่งที่หะรอมและถือเป็นหนึ่งในคุณลักษณะของพวกมุนาฟิก
จุดประสงค์ของการหยอกล้อคือ เพื่อสร้างบรรยากาศของความสุข แต่การหยอกล้อในเชิงดูถูกเหยียดหยามนั้น มันจะสร้างบรรยากาศของการเป็นศัตรูมากกว่า
ท่านนบี  ได้กล่าวว่า:


المسلم أخو المسلم لا يظلمه ولا يخذله ولا يحقره، التقوى ها هنا - ويشير إلى صدره ثلاث مرات - بحسب إمرىء من الشر أن يحقر أخاه المسلم. كل المسلم على المسلم حرام؟ دمه، وماله، وعرضه


ความว่า: มุสลิมคือพี่น้องของมุสลิม เขาจะไม่อยุติธรรม ไม่ทอดทิ้ง และไม่ดูถูกพี่น้องของเขา การตักวาอยู่ที่นี้ –และท่านก็ชี้ไปที่อกของท่านสามครั้ง- เป็นทีเพียงพอแล้วสำหรับความชั่วแก่คน ๆ หนึ่งโดยที่เขาดูถูกพี่น้องของเขา มุสลิมทุกคนเป็นที่หะรอมแก่มุสลิมด้วยกันซึ่งเลือดเนื้อ ทรัพย์สมบัติ และเกียตริศักดิ์ศรีของเขา [มุสลิม: 6487]

5. หยอกล้อแต่พอดีพองาม
การงานใดก็แล้วแต่ที่ศาสนาอนุญาตหากปฏิบัติเกินความพอดีแล้ว จากที่อนุญาตอาจะเป็นหะรอม
ท่านอิบนุหะญัรฺได้กล่าวว่า:
“การหยอกล้อที่ต้องห้ามคือ การหยอกล้อที่เกินพอดีและปฏิบัติจนเป็นนิจ เนื่องจากมันทำให้หันเหออกจากการรำลึกถึงอัลลอฮฺ และขบคิดถึงปวงประการที่สำคัญในศาสนา และมันยังส่งผลให้จิตใจแข็งกระด้าง ก่อความเดือดร้อน เกลียดชัง และยังทำให้ไม่มีความน่าเกรงขามและน่านับถือ”
ท่านนบี  ได้กล่าวว่า:


«لا تكثر الضحك فإن كثرة الضحك تميت القلب»


ความว่า: ท่านจงอย่าหัวเราะมาก เพราะการหัวเราะมาก ๆ ทำให้หัวใจตายด้าน [อิบนุมาญะฮฺ: 4193]

ดังนั้นจงให้การหยอกล้อเสมือนกับเกลือในอาหาร หากไม่ใส่เลยอาหารก็จะไม่ได้รสชาติ แต่หากใส่มากเกินไปอาหารก็จะเสียรสชาติ เติมนิดใส่หน่อย อาหารจะได้อร่อย

6. คำนึงถึงคู่สนทนา
มนุษย์มีวัยและสถานะภาพที่แตกต่างกัน การหยอกล้อกับเด็ก ๆ ย่อมไม่เหมือนกับการหยอกล้อกับผู้หลักผู้ใหญ่ การหยอกล้อกับเพื่อนสนิทมิตรสหายก็ย่อมไม่เหมือนกับการหยอกล้อกับคนที่เพิ่งจะรู้จัก ดังนั้นในการหยอกล้อจึงควรคำนึงถึงจุดนี้ด้วย ไม่ใช่เหมารวมหมดเลย เพราะบางถ้อยคำอาจดูดีเมื่อใช้กับบางคน แต่มันจะดูแย่เมื่อใช้กับอีกบางคน
และการคำนึงถึงคู่สนทนานี้ยังแสดงถึงการมีมารยาท การให้เกียรติ และยังเป็นการแสดงถึงการสานสัมพันธ์ดีที่อีกด้วย

7. ไม่หยอกล้อโดยการนินทา
การนินทากลายเป็นอาหารจานเด็ดอันโอชะสำหรับวงสนทนาไปแล้ว อาจเป็นเพราะด้วยความสนุกปากหรืออยากฟัง ทั้งอาจโดยตั้งใจหรือปากพาไป เลยทำให้บุคคลที่สามที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่กลายเป็นเป้าล่อในวงสนทนาโดยปริยาย บางคนกลับทึกทักเอาเองว่าคงไม่เป็นไร เพราะเป็นเพียงการหยอกล้อเย้าเล่น แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นไม่
การนินทาคือ การกล่าวถึงบุคคลที่สามในสิ่งที่เขาไม่พอใจ ดังที่ท่านนบี  ได้กล่าวว่า:


«ذكرك أخاك بما يكره»


ความว่า: (การนินทาคือ) การที่ท่านกล่าวถึงพี่น้องของท่านในสิ่งที่เขาไม่พอใจ [มุสลิม: 6536]

ฉะนั้นการพูดถึงคนอื่นในทางลับหลังโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ ถือว่าเป็นการนินทา และอัลลอฮฺได้อุปมาคนที่นินทาคนอื่นเสมือนกับผู้ที่ได้กินเลือดเนื้อพี่น้องของเขา พระองค์ได้ตรัสไว้ความว่า:
"และบางคนในหมู่พวกเจ้าจงอย่านินทาซึ่งกันและกัน คนหนึ่งในหมู่พวกเจ้านั้นชอบที่จะกินเนื้อพี่น้องของเขาที่ตายไปแล้วกระนั้นหรือ พวกเจ้าย่อมเกลียดมัน และจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ" [อัลหุญุรอต:12]

ท่านอัมรฺ อิบนุ อัลอาศและสหายของท่านได้เดินผ่านซากลอที่เน่าเฟะ เมื่อเห็นดังนั้นท่านอัมรฺจึงกล่าวขึ้นว่า “การที่พวกท่านกินเนื้อล่อที่เน่าเฟะนี้จนอิ่มท้อง ยังดีกว่าที่ท่านจะกินเลือดเนื้อพี่น้องมุสลิมของท่าน (หมายถึงการนินทา)”
ดังนั้นจงอย่าให้วงสนทนาของเรามีกับแกล้มที่เป็นเลือดเนื้อพี่น้องของเราร่วมอยู่ด้วยเด็ดขาด


เขียนโดย อ.ฟัยซอล อับดุลฮาดี (www. islamhouse.com)

จุดประสงค์กองทุนฯ

• ส่งเสริมให้สมาชิกมีความสนใจ และตระหนักถึงความสำคัญของระบบเศรษฐกิจตามหลักการอิสลามที่ปลอดดอกเบี้ย
• ส่งเสริมให้สมาชิก และบุคคลทั่วไปมีการออมทรัพย์ในรูปแบบเงินฝาก หุ้นและมูฎอรอบะฮฺ
• ระดมทุนจากสมาชิกและบุคคลทั่วไป โดยวิธีการต่างๆ ที่สอดคล้องกับหลักการอิสลาม
• ส่งเสริมให้เกิดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อันจะนำมาซึ่งความสามัคคี และช่วยยกระดับของสังคม

นโยบายกองทุนฯ

มุ่งเน้นให้สมาชิกทุกคน พึงตระหนักว่าบทบาทที่สำคัญของตน คือ การที่ต้องเป็นทั้งเจ้าของและลูกค้าในคนๆเดียวกัน จึงต้องทำหน้าที่เป็นทั้งผู้สมทบทุน ควบคุม และอุดหนุน หรือผู้ใช้บริการของกองทุนฯ มิใช่เข้ามาเป็นสมาชิก เพียงเพื่อมุ่งหวังได้รับประโยชน์จากกองทุนฯ เท่านั้น

ความเป็นมาของกองทุนออมทรัพย์อัลอิคลาศ

เดิมที กลุ่มนักเรียนเยาวชนมุสลิมพัทลุง ที่ศึกษาอยู่ในจังหวัดปัตตานี ได้จัดตั้งชมรมนักเรียน นักศึกษามุสลิมสัมพันธ์ พัทลุง ขึ้นในปี ๒๕๔๒ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การอิศลาห์อามาลีย์ การอบรม/จัดค่ายในจังหวัดต่างๆ เป็นต้น ทำให้บุคลากรในชมรมฯ มีความเข้าใจถึงการเสียสละเพื่อส่วนรวมได้ในระดับหนึ่ง เมื่อบุคลากรทั้งหมดได้สำเร็จการศึกษา จึงได้แยกย้ายกันไปทำงานตามที่ตนเองต้องการและถนัดหลังจากนั้นก็ยังมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง แต่ได้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการศึกษาร่วมกัน (ฮาลาเกาะฮฺ) ประจำเดือนทุกๆ เดือน และได้มีการเริ่มต้นคิดกิจกรรมอย่างอื่น เพื่อช่วยเหลือ ผลักดันและให้ความเข้าใจเกี่ยวกับอิสลามแก่สังคม และหนึ่งในรูปแบบของการจัดกิจกรรม คือการจัดตั้งกองทุนกองทุน อัลอิคลาส เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๑ ด้วยสมาชิกจำนวน ๙ คน ทั้งนี้ โดยเน้นการระดมทุนจากสมาชิก ดำเนินธุรกิจที่ปลอดดอกเบี้ยตามระบบการทำเศรษฐกิจแบบอิสลาม เพื่อให้สมาชิกมีโอกาสในการซื้อสินค้าและปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็น โดยที่ไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับระบบดอกเบี้ย ที่จะทำให้ชีวิตตกอยู่ในวังวนของการกระทำความผิดต่อหลักการอยู่เป็นนิจนั่นเอง
กองทุนออมทรัพย์ อัลอิคลาส ตั้งเป้าในการทำกิจกรรมของกองทุนฯ ดั้งนี้
ภายในปี ๒๕๕๓ กองทุนฯ จะมีสมาชิก จำนวน ๑๓๐ คน ทรัพย์สิน จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท
ภายในปี ๒๕๕๕ กองทุนฯ จะมีสำนักงานในการดำเนินงาน
กองทุนฯ จะมีการแจ้งการดำเนินงานให้สมาชิกทราบเป็นระยะทุกปีทำการ